ปฐมนิเทศรามคำแหง นิติศาสตร์ ภาคพิเศษ 16/6/67

  • ประมวลกฎหมายที่แจกคือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1-6 อาญา ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เมื่อถึงรหัสเลข 3 (ปี 3) จะต้องใช้ประมวลอีกเล่ม คือกฎหมายวิธีพิจารณาความ ต้องซื้อประมวลเอาเอง ไม่ได้แจกให้
  • ปกติแล้วนักกฎหมายจะใช้ประมวลเล่มเดิม ไม่เปลี่ยนเล่ม เพราะมีการจดอะไรต่างๆไว้ในนั้น และพกติดตัวไปอ่านที่อื่นเสมอ เว้นแต่จะมีการอัพเดทประมวลใหม่
  • หลักสูตรปรับปรุงทุก 5 ปี ปัจจุบันคือหลักสูตรปี 2565 มี 140 หน่วยกิต ส่วนที่เทียบโอนได้ 36 หน่วยกิตจากคนที่จบ ป.ตรี จากมหาลัยอื่น แต่ที่เทียบโอนไม่นำมาคิดเกรดให้
  • วิชา 2 หน่วยกิต สอบ 2 ชม. มีข้อสอบ 3 ข้อ
  • วิชา 3 หน่วยกิต สอบ 3.30 ชม. มีข้อสอบ 4 ข้อ
  • หลังสอบประมาณ 14 วัน จะประกาศผลสอบให้ทราบผ่านเพจ fb ของโครงการ
  • ถ้าสอบตก อาจารย์จะเขียน F เลย แต่ถ้าคนสอบตกเยอะ อาจารย์จะเขียนลากแถวยาวๆลงมา ไม่ได้เขียนคำว่า F ให้ อันนี้ใหรู้ว่า F
  • สอบตกครั้งแรก จะให้สอบแก้ตัวโดยไม่ต้องลงทะเบียนเรียนใหม่ได้ 1 ครั้ง
  • หากไม่มาสอบไล่ได้ มีสิทธิสอบแก้ตัวได้ 1 ครั้ง แต่ไม่สามารถเขียนคำร้องขอสอบแก้ตัวได้ในกรณีที่ไม่ว่างมาสอบ
  • ต้องเหลือไม่ถึง 30 หน่วยกิต และวิชานั้นไม่เปิดบรรยาย ถึงจะไปฝากเรียน ฝากสอบ กับโครงการอื่น เช่น วันธรรมดาตอนเย็นได้
  • ตอนสอบภาคพิเศษ ให้เข้าสายได้สูงสุดไม่เกิน 15 นาที หรือมาสอบก่อน 18.15 น. (แต่ถ้าภาคปกติสายได้ไม่เกิน 5 นาที) และออกจากห้องสอบเมื่อพ้นเวลาล่วงไป 30 นาทีแล้วเท่านั้น
  • สมุดคำตอบมี 3 สี แต่สีไหนไม่สำคัญ และข้อสอบเป็นอัตนัยทั้งหมด
  • กระดาษคำตอบเขียนแถวที่ / บัตรคิว คำตอบกระบวนวิชา เขียนรหัสวิชา เช่น LAW1106 เขียนรหัสประจำตัว นศ. 6701xxxx ชื่อ-นามสกุล ลงชื่อ นศ. ตรงคำปฏิญานตน
  • การทำข้อสอบ ไม่จำเป็นต้องทำข้อ 1 ก่อน เลือกที่จะทำข้อ 3 ก่อนได้ ก็เขียนเลขไว้หน้าข้อ แล้วเขียนคำตอบไป
  • การเขียนคำตอบแนะนำให้ทำครบทุกข้อ
  • เทคนิค แนะนำอ่านคำถามแล้วเขียนคำตอบไว้คร่าวๆ ว่าใช้มาตราอะไรบ้าง
  • ตัวบทกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องเป๊ะตามตัวบทกฎหมาย แต่อย่าไปบัญญัติกฎหมายขึ้นเอง
  • เขียน 3 ส่วน คือ 1 วางตัวบทกฎหมาย 2 ขยายความตามโจทย์ 3. สรุป
  • หากทุจริต กระบวนวิชาที่สอบไปก่อนหน้านี้ ปรับตกทั้งหมด

การเขียนตอบข้อสอบกฎหมาย

ตอบข้อสอบบรรยาย

การตอบข้อสอบบรรยาย อาจไม่ได้มีการเอาตัวบทกฎหมายมาใช้หรือมีก็ได้ เช่น อาจจะถามหลักการของกฎหมาย หรืออาจจะมีหลายประเด็นในข้อเดียว

การตอบแนะนำให้มี ย่อหน้า คือมีส่วนนำ มีเนื้อหา และมีสรุป

ในส่วนของส่วนนำอาจจะไม่ได้จำเป็นหรือซีเรียสมาก แต่ที่เราต้องใส่ใจเลยคือส่วนของเนื้อหา เพราะฉะนั้นเราต้องวางโครงก่อนว่า เราจะตอบกี่ประเด็น แล้วเราก็เรียงลำดับว่าเราพูดประเด็นไหนก่อนหลัง เวลาเขียนแนะนำว่าให้เขียนแต่ละประเด็นหลักหรือประเด็นสำคัญให้เขียนเป็นแต่ละย่อหน้า

ถ้าคำถามถ้ามีตัวบทเกี่ยวข้อง อาจเขียนประกอบไปในการบรรยายก็ได้

พอได้ส่วนเนื้อหาแล้ว ก็เขียนสรุป โดยสรุปสักย่อหน้านึงที่เป็นประเด็นสำคัญ

ตอบแบบมีตุ๊กตา เช่น นาย ก นาย ข

ข้อสอบแบบมีตุ๊กตาเราจะเจอเยอะที่สุด มันจะมีเรื่องราว แล้วให้เราวินิจฉัยว่าทำได้ไหม ผิดไหม ทำได้หรือไม่ได้ตามบทบัญญัติกฎหมายใด

เทคนิคการเขียนตอบข้อสอบแบบนี้มีแบบนี้ (จำเป็นต้องมีครบทั้ง 3 ส่วน) คือ

  1. หลักกฎหมาย (ตัวบท) ใส่มาตราที่จะใช้ตอบข้อสอบในข้อนั้นๆมาให้ครบ ตัวบทเราไม่จำเป็นต้องใส่ทุกวรรคตามมาตรานั้น เราจะใส่เฉพาะวรรคที่ใช้ก็ได้ เช่น มาตรานี้ วรรคนี้ ส่วนถ้าจำตัวบทเป๊ะๆไม่ได้ อย่างน้อยเขียนหลักมา ก็ยังพอได้คะแนน เขียนหลักมาว่าใจความสำคัญของมาตรานั้น คืออะไร เพื่อเอาไปปรับตามข้อเท็จจริงและใช้ในการวินิจฉัยได้
    – ถ้าคำถามไม่ได้ถาม ควรตอบแค่เท่าที่ถามจะได้คะแนนดีกว่า เพราะถ้าเขียนมาเกิน อาจมองว่าตอบไม่ตรงคำถาม และเราไม่ได้เข้าใจคำถามนั้นจรืงๆ
    – บางทีเราฟันธงผิด แต่ตัวบทถูก ตรงนี้อาจจะได้คะแนน
  2. วินิจฉัย เอาหลักกฎหมายที่เราเขียนในย่อหน้าแรกมาปรับกับข้อเท็จจริงในโจทย์ ว่าใครทำอะไร แล้วอธิบายเหตุและผลเพื่อที่จะนำไปสู่คำตอบ
  3. สรุป ยิ่งเป็นข้อสอบตุ๊กตา ควรจะมีย่อหน้าสรุป เช่น ก ไก่ ควรจะทำแบบนี้ไหม คือเขียนการตอบคำถามแบบตรงประเด็นไปเลย พร้อมเขียนกับว่าตามบทกฎหมายแห่งมาตราใด

เทคนิค

  • การแบ่งเวลา อ่านโจทย์ก่อนว่าข้อไหนทำได้ ทำไม่ได้ ข้อไหนใช้เวลานาน โดยเฉพาะถ้าเราทำข้อไหนได้ดี เรามักจะเสียเวลากับข้อนั้นนาน ทำให้ทำข้อที่เหลือไม่ทัน
  • พยายามทำให้ครบทุกข้อ เช่น มี 4 ข้อ เราจะผ่านอย่างน้อยต้องทำทั้ง 2 ข้อ คือ 50% และมันยากมากที่เราจะได้เต็มทั้ง 2 ข้อ ดังนั้นอย่าเสียเวลากับข้อใดข้อหนึ่งนานเกินไป
  • ใส่ keyword สำคัญที่ต้องตอบ ซึ่งก็จะสอดคล้องกับประเด็นแรกว่าต้องลิสประเด็นก่อนว่ามีประเด็นไหนบ้าง
  • คะแนนไม่ได้ขึ้นกับความยาว ขึ้นกับว่าเราเขียนครบทุกประเด็นหรือเปล่า นศ. เชื่อมโยงครบทุกองค์ประกอบของมาตรานั้นๆไหม จำไว้ว่า ความยาวไม่ได้สำคัญเท่าเนื้อหา
  • ถ้าอยากฝึกทำข้อสอบ แนะนำให้ไปดูข้อสอบเก่า อาจไปดูจากข้อสอบเก่าของส่วนกลาง ทำข้อสอบเก่าบ่อยๆก็ช่วยได้
  • ไปดูคำพิพากษาฎีกาต่างๆก็ช่วยได้ เพราะฎีกาต่างๆจะมี wording ที่เป็น keyword ที่ศาลใช้
  • นอกจากแปะตัวบท และเนื้อเรื่องแล้ว เราต้องเขียนเชื่อมโยงเหตุและผลได้ ถ้าไม่เขียนเชื่อมโยงอาจจะโดนมองว่าเราไม่เข้าใจ ดังนั้นต้องแม่นองค์ประกอบของมาตรานั้นๆ
  • เวลาที่มีการอ้างตัวบทกฎหมาย เราต้องมีการอ้างวรรค เช่น วรรค 1 วรรค 2 วรรค 3

ตัวอย่าง 1

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

มาตรา 3 สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ

ถ้าคำถามๆว่า สัญญาก่อสร้างที่ทำกับ รพ.รัฐ เป็นระยะเวลา 6 เดือน จัดเป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่ เราก็ต้องมาดูว่า สัญญานั้นเป็นสัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ หรือไม่ เราก็ต้องมาดูว่า “หน่วยงานทางปกครอง” หมายถึงอะไร ซึ่งก็มีระบุไว้ในมาตรา 3 อีกวรรคนึงดังนี้

มาตรา 3 “หน่วยงานทางปกครอง” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น และมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง

ก็จะเห็นว่า รพ.รัฐ จัดเป็น “หน่วยงานทางปกครอง” ดังนั้นก็ถือว่าเป็นสัญญาที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ก็ต้องมาดูต่อว่า มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ หรือไม่

ตัวอย่าง 2

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิต แก่ร่างกาย อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

ดังนั้น ตัวบทนี้มี 3 ประเด็นคือ ผู้ใดจงใจประมาทเลิ่นเล่อ และทำต่อบุคคลอื่นโดนผิดกฎหมาย และทำให้เขาเสียหาย ดังนั้นถ้ามีครบ 3 องค์ประกอบนี้ ก ไก่ ก็เรียกค่าสินไหมทดแทนจาก ข ไข่ ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420

ตัวอย่าง 3

มาตรา 270 ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ไซร์ ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด

เช่น ก ไก่ ขอนัดชำระหนี้ แต่ ข ไข่ไม่รับชำระ ก็คือต้องตอบว่า ก ได้ ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้แล้ว แต่ ข ไข่ ไม่รับชำระ ก็ต้องมาดูว่าไม่รับชำระโดยมีมูลเหตุทางกฎหมายหรือไม่ ซึ่ง ข ไข่ ไม่ได้อ้างมูลเหตุอะไร ดังนั้น ข ไข่ ตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา 270

แต่ถ้าไม่รับชำระหนี้ เพราะ ก ไก่ ขอชำระหนี้ด้วยจักรยานยนต์แทน ข ไข่ จึงไม่รับ ซึ่งกรณีนี้ลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ แต่ไม่ใช่หนี้ที่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะกฎหมายบอกว่าเป็นหนี้อะไร ต้องใช้อย่างนั้น พอใช้เป็นอย่างอื่น เจ้าหนี้มีสิทธิปฏิเสธได้ ดังนั้น เจ้าหนี้สามารถปฏิเสธโดยอ้างมูลเหตุทางกฎหมายได้ แบบนี้เจ้าหนี้ไม่ผิดนัดชำระ

ตัวอย่าง 4

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท

ก็ต้องเขียนว่า ก ไก่ เอาไป ซึ่งคำว่าเอาไป หมายความว่ายังไง แล้วก็บอกว่าที่เอาไปนั้น เป็นทรัพย์ของผู้อื่น แล้วเราก็อธิบายว่าทรัพย์ของผู้อื่น หรือเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยหมายความว่ายังไง แล้วก็ต้องอธิบายคำว่า โดยทุจริต ไว้ด้วย แล้วก็สรุปว่า ดังนั้น ก ไก่ กระทำความผิดฐานลักทรัพย์

  • วิธีจำ จำเป็นหลักก่อน แล้วค่อยจำเป็นข้อยกเว้น จะได้ไม่เอาหลักกับข้อยกเว้นมาปนกัน

ตัวอย่างข้อสอบบรรยาย 1

คำถาม : คำสั่งทางปกครองกับกฎแตกต่างกันอย่างไร จงอธิบายมาโดยละเอียด พร้อมยกหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

แนวคำตอบ : มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ได้นิยามความหมายของคำว่า “คำสั่งทางปกครอง” และ “กฎ” ไว้

‘คำสั่งทางปกครอง’ เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ

ส่วน ‘กฎ’ หมายความว่า พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ

ดังนั้น คำสั่งทางปกครองต้องมีผลบังคับแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกรณีใดกรณีหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง ซึ่งแตกต่างกับกฎ เนื่องจากกฎต้องมีผลบังคับเป็นการทั่วไปโดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกรณีใดกรณีหนึ่งเป็นการเฉพาะ

  • นอกจากนี้เราสามารถเขียนเสริมตามองค์ความรู้ที่เราเข้าใจนอกเหนือจากตัวบทได้ เช่น กฎ แม้ว่าจะไม่ได้ระบุใน มาตรา 5 แห่ง พรบ.วิธีการปฏิบัติทางศาลปกครอง แต่เรารู้ว่า กฎ หมายถึงกฎหมายระดับรอง ซึ่งมาตรา 5 ไม่ได้ระบุไว้ ก็เขียนเพิ่มไปได้

ตัวอย่างข้อสอบบรรยาย 2

คําถาม : ระยะเวลาในการอุทธรณ์คําสั่งทางปกครองสามารถขยายระยะเวลาออกไปได้ในกรณีใดบ้าง จงอธิบายมาโดยละเอียด พร้อมยกหลัก กฎหมายประกอบ

แนวคําตอบ : ระยะเวลาในการอุทธรณ์คําสั่งทางปกครองสามารถขยายออกไปได้ 2 กรณีด้วยกัน ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ได้แก่

1) กรณีตามมาตรา 40 วรรคสอง ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาโดยผลของกฎหมาย กรณีที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการแจ้งรายละเอียดตาม หลักเกณฑ์ในวรรคหนึ่ง กล่าวคือ ระบุกรณีที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้ง การยื่นคําอุทธรณ์หรือคําโต้แย้ง และระยะเวลาสําหรับการอุทธรณ์หรือการโต้แย้งไว้ หากไม่มีการแจ้งหลักเกณฑ์ดังกล่าวใหม่และระยะเวลาดังกล่าวสั้นกว่า 1 ปี ให้ขยายระยะเวลาเป็น 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับคําสั่งทางปกครอง

2) กรณีตามมาตรา 66 เป็นการขยายระยะเวลาตามคําขอของคู่กรณี ในกรณีที่มีพฤติการณ์ที่จําเป็นอันเป็นเหตุให้คู่กรณีไม่อาจกระทําการได้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกําหนด โดยเป็นพฤติการณ์ที่จําเป็นอันมิได้เกิดขึ้นจากความผิดของผู้นั้น

ตัวอย่างข้อสอบตุ๊กตา 1

คําถาม : จันทร์จ้างอังคารทําแหวนเพชรหนึ่งวง โดยตกลงกันว่า จันทร์จะเป็นผู้หาเพชรมาให้อังคาร และจะส่งมอบเพชรให้แก่ อังคารภายในกําหนด 1 เดือน นับแต่วันทําสัญญา แต่ปรากฏว่าจันทร์ละเลยไม่นําเพชรมาให้อังคารตามกําหนด ดังนี้ ให้ วินิจฉัยว่า ในกรณีที่จะถือว่าจันทร์ตกเป็นผู้ผิดนัด อังคารจําเป็นต้องขอปฏิบัติการชําระหนี้ต่อจันทร์ก่อนหรือไม่ เพราะเหตุใด

แนวค่าตอบ : หลักกฎหมาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 209 (หลักกฎหมาย)

กรณีตามปัญหา เป็นกรณีที่เจ้าหนี้ต้องทําการบางอย่างก่อนที่จะให้ลูกหนี้ชําระหนี้ เช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 208 วรรคสอง เพียงแต่กรณีของมาตรา 209 มีการเพิ่มเติมเวลาให้เจ้าหนี้กระทําการในเวลาที่กําหนดไว้แน่นอน เมื่อเจ้าหนี้ละเลยไม่ทําการ ภายในกําหนดเวลาดังกล่าว คือ การนําเพชรมาส่งมอบให้แก่อังคาร จันทร์ก็ตกเป็นเจ้าหนี้ผิดนัดทันที ตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 209 โดยที่อังคาร (ลูกหนี้) มิต้องดําเนินการใดแต่ประการใด (วินิจฉัย)

ดังนั้น อังคารไม่จําเป็นต้องขอปฏิบัติการชําระหนี้ต่อจันทร์ก่อนแต่ประการใด (สรุป)

ตัวอย่างข้อสอบตุ๊กตา 2

ค่าถาม : จันทร์เช่าบ้านของอังคารอยู่ ปรากฏว่าพุธทําละเมิดจับรถยนต์ชนบ้านเช่าได้รับความเสียหายประมาณหนึ่งแสนบาท จันทร์ได้ใช้ค่าซ่อมแซมบ้านจํานวนเงินหนึ่งแสนบาทให้แก่อังคารไป ซึ่งอังคารก็รับไว้ ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าจันทร์จะเรียกร้องให้พุธผู้ทําละเมิดรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจํานวนหนึ่งแสนบาทนั้นให้แก่ตนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

แนวคําตอบ : หลักกฎหมาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 227 (หลักกฎหมาย)

กรณีตามปัญหา จันทร์เป็นเพียงผู้เช่าธรรมดา ไม่มีหน้าที่ใดที่จะต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่า กรณีจึงไม่ใช่ ลูกหนี้ตามมาตรา 227 รับช่วงสิทธิไม่เกิด กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติในมาตรา 227 จันทร์จะเรียกร้องให้พุธผู้ทําละเมิดชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจํานวนหนึ่งแสนบาทให้แก่ตนไม่ได้ (วินิจฉัย)

ดังนั้น จันทร์จะเรียกร้องให้พุธผู้ทําละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายให้แก่ตนไม่ได้ (สรุป)

ภาษาเขียนกับภาษาพูด

ภาษาพูด: ผู้พูดเผชิญหน้าผู้ฟังอยู่ ย่อมรู้ได้ทันทีว่าผู้ฟังเข้าใจเรื่องที่ตนพูดดีหรือไม่ ถ้าไม่เข้าใจก็อาจพูดซ้ำได้โดยไม่เสียลีลาของภาษาพูด

ภาษาเขียน: การกล่าวซ้ำในลักษณะที่ใช้พูดทำให้ภาษาเขียนฟุ้งเฟ้อซ้ำซากไม่น่าอ่าน

เวลาทำข้อสอบ นศ. ไม่ควรที่จะใช้ภาษาพูดในการเขียนตอบข้อสอบ ถึงแม้ว่าจะไม่มีการหักคะแนน แต่ตอนทำงานจริงต้องเอาไปใช้ ดังนั้นฝึกเสียตั้งแต่ตอนนี้ เช่น คดีโจทก์ไม่มีทางขาดอายุความเป็นภาษาพูด แต่ตอนเขียนก็ต้องเขียนว่า คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ

ระบบตัวอักษรย่อในภาษากฎหมาย

  • การใช้ตัวอักษรย่อในภาษากฎหมายไทยนั้นเป็นที่นิยมใช้กันอยู่ทั่วไปเพื่อประหยัดเวลา แต่ไม่ได้มีการวางมาตรฐานในเรื่องนี้ให้เป็นระเบียบเดียวกัน

ก็คือมันไม่เคยมีการวางมาตรฐานไว้ เราเอามาใช้กันเอง เช่น ป.วิ.อาญา ดังนั้นตอนเขียนตอบข้อสอบ เราไม่ควรเอาอักษรย่อมาใช้ ในการทำงานจริงก็เช่นเดียวกัน บางหน่วยงานก็ย่อไม่เหมือนกัน เช่น บางหน่วยงานย่อ พรก. ว่าพระราชกำหนด บางหน่วยงานย่อ พรก. ว่าพระราชกฤษฎีกา

โวหารกฎหมายไทยที่ดี

โวหารกฎหมายไทยที่ดี ต้องประกอบด้วยคุณลักษณะสำคัญ 6 ประการ

  1. แจ้งชัดและปราศจากช่องโหว่
  2. สั้นกะทัดรัด
  3. ใช้ถ้อยคำในภาษากฎหมายให้เป็นระเบียบเดียวกันโดยตลอด
  4. ใช้ถ้อยคำที่ใช้ในตัวบทกฎหมาย
  5. สุภาพนุ่มนวล
  6. สามารถจูงใจผู้ฟังผู้อ่านให้คล้อยตามได้

ซึ่งเวลาร่างกฎหมาย เค้าคิดมาแล้ว ทุกคำที่ใส่มาจะมีความสำคัญและมีความหมายเสมอ ดังนั้นเวลาเขียนตอบ พยายามใช้คำที่เขียนอยู่ในตัวบทกฎหมาย เพื่อไม่ให้ความหมายมันดิ้นได้ สั้น และกระชับ

ใช้ถ่อยคำในภาษากฎหมายให้เป็นระเบียบเดียวกันโดยตลอด >>> ถ้าต้องการให้คำมีความหมายอย่างเดียวกัน ควรใช้คำเดิม อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ กฎหมายฉบับเดียวกัน คนละมาตรา เปลี่ยนไปใช้อีกคำก็มี ซึ่งเป็นข้อบกพร่องตอนร่างกฎหมาย

สามารถจูงใจผู้ฟังผู้อ่านให้คล้อยตามได้ >>> เป็นทักษะที่นักกฎหมายควรมี โดยเฉพาะคนที่เป็นทนายความ


Share this:

จบการศึกษาเภสัชศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำงานในแวดวงอุตสาหกรรมยามานานกว่า 10 ปี เชี่ยวชาญด้าน QC/QA นอกจากนี้ยังมีประสบการณ์ทางด้านร้านยา เคยเปิดร้านยาของตนเอง หากมีเวลาว่างมักไป part time ร้านยาต่างๆ และเคยดูแลร้านยาให้กับเจ้าของบริษัทที่ทำงาน ชื่นชอบการทำเว็บไซต์ สนใจด้าน Internet Marketing และเทคโนโลยี ทำเว็บไซต์ และ SEO เป็นงานอดิเรก ดูเพิ่มเติม