การอุดช่องว่างในทางกฎหมายแพ่งมีหลักเกณฑ์อย่างไร

หลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 4 วรรคสอง บัญญัติว่า “เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้นให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบกับบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป”

กล่าวคือ มาตรา 4 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์วางหลักไว้ว่า เมื่อไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดๆที่จะยกมาปรับใช้ได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตาม

  1. จารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น
  2. ถ้าไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นให้อาศัยเทียบกับบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง
  3. ถ้าไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป

ในส่วนของจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นคือระเบียบแบบแผนที่มนุษย์ยอมรับนับถือและปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลา โดยจารีตประเพณีที่จะนำมาปรับใช้ได้ ควรมีลักษณะดังนี้

  1. เป็นจารีตประเพณีที่บุคคลในท้องถิ่นนั้นได้ถือปฏิบัติกันทั่วไป
  2. เป็นจารีตประเพณีที่ปฏิบัติติดต่อกันมาเป็นเวลานาน
  3. เป็นจารีตประเพณีที่ไม่ขัดต่อข้อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
  4. เป็นจารีตประเพณีที่ทราบกันทั่วไป
  5. เป็นจารีตประเพณีที่มีเหตุผลและเป็นธรรม

แต่ถ้าหากไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นให้อาศัยเทียบเคียงกับบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งโดยอาศัยหลัก “สิ่งที่เหมือนกันควรจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน” โดยมีขั้นตอนดังนี้

  1. พิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในคดี ว่ามีความคล้ายคลึงกับข้อเท็จจริงที่มีกฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่
  2. พิจารณาถึงเหตุผลของข้อเท็จจริงทั้งสองกรณีว่ามีเหตุผลเดียวกันหรือเหตุผลที่ใกล้เคียงกันอย่างยิ่งหรือไม่
  3. พิจารณากฎหมายที่จะนำมาเทียบเคียงกันว่าเป็นบททั่วไปหรือข้อยกเว้น ถ้าเป็นบททั่วไปก็นำมาเทียบเคียงกันได้ แต่ถ้าเป็นข้อยกเว้นก็นำมาเทียบเคียงกันไม่ได้
  4. พิจารณากฎหมายที่จะนำมาพิจารณาเทียบเคียงกันว่าเป็นกฎหมายเรื่องเดียวกันหรือเป็นกฎหมายพิเศษเฉพาะเรื่อง ถ้าเป็นเรื่องเดียวกันเทียบเคียงกันได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องพิเศษเฉพาะเรื่องเทียบเคียงกันไม่ได้

ตัวอย่างการอุดช่องว่างทางกฎหมายโดยอาศัยหลักเทียบเคียงกับบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง เช่น ประเทศไทยไม่มีบทบัญญัติว่าการขุดหลุมรับกากสารเคมีต้องขุดในระยะกี่เมตร แต่มีกฎหมายระบุว่าการขุดหลุมรับน้ำโสโครก หลุมขยะ สิ่งปฏิกูล จะขุดในระยะ 2 เมตร จากแนวดินไม่ได้ เพราะอาจเกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้ที่อยู่ในที่ดินข้างเคียง จึงนำบทบัญญัตินี้มาใช้เทียบเคียงกันได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่คล้ายกัน และมีเหตุผลอย่างเดียวกันคือเพื่อมิให้เกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญ

แต่ถ้าไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป

หลักกฎหมายทั่วไปหมายถึงรากฐานที่เป็นที่ของบทบัญญัติในกฎหมายเรื่องต่างๆ ตัวอย่างของบทบัญญัติกฎหมายทั่วไป เช่น “บุคคลต้องปฏิบัติตามสัญญา” หรือ “หลักคุ้มครองผู้สุจริต” นอกจากนี้อาจได้มาจากสุภาษิตของกฎหมาย หรือเป็นหลักกฎหมายที่นานาอารยะประเทศยอมรับและใช้ปฏิบัตืทั่วไปก็ได้


Share this:

จบการศึกษาเภสัชศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำงานในแวดวงอุตสาหกรรมยามานานกว่า 10 ปี เชี่ยวชาญด้าน QC/QA นอกจากนี้ยังมีประสบการณ์ทางด้านร้านยา เคยเปิดร้านยาของตนเอง หากมีเวลาว่างมักไป part time ร้านยาต่างๆ และเคยดูแลร้านยาให้กับเจ้าของบริษัทที่ทำงาน ชื่นชอบการทำเว็บไซต์ สนใจด้าน Internet Marketing และเทคโนโลยี ทำเว็บไซต์ และ SEO เป็นงานอดิเรก ดูเพิ่มเติม