สรุปการประชุมมาตรการลดความเสี่ยงจากการใช้ยาในตำรับยาสูตรผสมแก้หวัด-ไอ
มาตรการลดความเสี่ยงของ ยาแก้หวัด-ไอ ของต่างประเทศ มาตรก […]
ภาพและเนื้อหาประกอบบทความ นำมาจากสไลด์การบรรยายเรื่อง การยื่นเอกสารการศึกษาความคงสภาพ ประกอบการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดย ภญ.จิรารัตน์ เพิ่มภูศรี กลุ่มกำกับดูแลก่อนออกสู่ตลาด กองผลิตภัณฑ์สมุนไพร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
การศึกษาความคงสภาพเพื่อประกอบการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพรนั้นอยู่ในแนวทางการขึ้นทะเบียนมาสักประมาณ 2 ปีแล้วคือนับตั้งแต่สร้างกองสมุนไพรขึ้นมา เแต่ด้วยความที่มันเป็นแนวทางไม่ใช่กฎหมายจึงมีความยืดหยุ่นมากกว่าว่าทำอะไร แบบไหน อย่างไร ไม่ได้ fixed เหมือนกฎหมาย
ในการขออนุญาตขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพร 1 รายการนั้น มีระบบขออนุญาตก่อนที่จะเข้ามายื่นข้อมูลผลิตภัณฑ์ ซึ่งแน่นอนว่าขั้นแรกผู้ประกอบการก็ต้องมีสถานที่ผลิต หรือสถานที่นำเข้ามาด้วยก่อน หลังจากนั้นก็มายื่นข้อมูลของตัวเนื้อผลิตภัณฑ์ในส่วนของข้อมูลวิชาการ หลังจากเราได้รับ Approve ทะเบียนแล้ว เราถึงไปทำโฆษณาได้
การศึกษาความคงสภาพ เป็นการศึกษาเพื่อดูว่าตัวผลิตภัณฑ์นั้นมีอายุการเก็บรักษาไว้ได้กี่ปี เพื่อที่เราจะได้นำข้อมูลนี้ไปใช้อ้างอิงบนฉลากว่าวันหมดอายุของผลิตภัณฑ์เรากี่ปี ซึ่งการที่เราจะรู้ได้นั้น เราก็ต้องศึกษาดูว่า ณ วันที่หมดอายุ ผลิตภัณฑ์เรานั้นมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัย เหมือนกับวันที่เราปล่อยขายออกไปวันแรกหรือไม่
ก่อนจะมีมาดูรายละเอียดเรื่องการศึกษาความคงสภาพ เรามาทำความรู้จักประเภทของผลิตภัณฑ์สมุนไพรตาม พรบ.สมุนไพร 2562 กันก่อน โดยประเภทสมุนไพรแบ่งเป็น 2 หมวดหลักๆคือ 1.หมวดยา 2.หมวดผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ
สำหรับผลิตภัณฑ์สมุนไพรหมวดยา จะแบ่งเป็น
โดยยาแผนไทย และยาแผนทางเลือก เดิมจะเป็นพวกยาแผนโบราณตาม พรบ.ยา 2510 ส่วนยาพัฒนาจากสมุนไพรนั้น เดิมอาจถูกจัดเป็นยาแผนปัจจุบันตาม พรบ.ยา 2510 อย่างไรก็ดี เมื่อมีการประกาศใช้ พรบ.สมุนไพร ได้มีการย้ายผลิตภัณฑ์กลุ่มยาแผนโบราณเดิมตาม พรบ.ยา มาเป็นยาแผนไทยและยาแผนทางเลือกตาม พรบ.สมุนไพรตัวใหม่นี้ แต่ยาพัฒนาจากสมุนไพรที่ถูกจัดเป็นยาแผนปัจจุบันไปแล้วตาม พรบ.ยา ไม่ได้ดึงมาด้วย หมายความว่ายาพัฒนาจากสมุนไพรจะมีแต่ยาที่ขึ้นทะเบียนใหม่ตาม พรบ.สมุนไพรเท่านั้น
เอาละ หลายคนอาจจะยังสับสนงงๆว่า ยาพัฒนาจากสมุนไพรคืออะไรกันแน่ เอาจริงๆมันคือยาวิจัย เช่น แต่เดิมยาหอม เราอาจใช้สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนโบราณ แต่ถ้าเราอยากจะเปลี่ยนสรรพคุณ เป็นสรรพคุณรักษาโรคของการแพทย์แผนปัจจุบัน เราก็ต้องศึกษาวิจัยใหม่แบบยาแผนปัจจุบัน หรืออยากจะเปลี่ยนกรรมวิธีการผลิตให้เป็นกรรมวิธีการผลิตแบบสมัยใหม่ พวกนี้จะจัดเป็นยาพัฒนาจากสมุนไพร
ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพจะแตกต่างจากยาตรงที่ ยาเน้นใช้รักษาคนป่วย แต่ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพจะไม่ได้มุ่งเน้นให้ใช้เพื่อรักษาคนป่วยเหมือนยา ใช้ในคนสุขภาพดีก็ได้ อาจจะค่อนข้างมีความคาบเกี่ยวกับอาหารและเครื่องสำอาง แต่ต่างกันตรงที่อาหารและเครื่องสำอางนั้นไม่สามารถเคลมสรรพคุณได้ แต่อันนี้จะเคลมสรรพคุณบนฉลากได้ ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 แบบหลักๆคือ
พวก Herbal Health Supplement แต่เดิมมันก็ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตาม พรบ.อาหาร ซึ่งก็อยู่ในข้อตกลง ASEAN เหมือนกันในส่วนของ Health Supplement
หลังจากที่ทราบประเภทหลักๆของผลิตภัณฑ์สมุนไพรไปแล้ว เรามีการจัดประเภทย่อยๆของประเภทหลักๆเหล่านั้นลงไปอีก ดังรูป ซึ่งประเภทย่อยๆแต่ละประเภท มีความแตกต่างกันในรายละเอียดของเอกสารที่ใช้ในการขึ้นทะเบียน
ในส่วนของยาพัฒนาจากสมุนไพรในกรอบสีแดงคือ ยาจากสมุนไพรที่ยอมรับทั่วไป (ข2) ไปจนถึงยาจากสมุนไพรใหม่ (ข4) ต้องมีการยื่น Protocol และผลการศึกษาความคงสภาพอยู่แล้ว (นึกถึงตอนยังไม่มี พรบ.สมุนไพร ยาพวกนี้ ก็ต้องขึ้นเป็นยาแผนปัจจุบันตาม พรบ.ยาอยู่แล้ว ซึ่งในยาแผนปัจจุบันตาม พรบ.ยา ก็ให้มีการส่งผลการศึกษาความคงสภาพอยู่แล้ว พอพวกนี้มันมาอยู่ใน พรบ.สมุนไพร ก็ใช้หลักการเดียวกัน)
ในส่วนของกรอบสีฟ้า คือกลุ่มพวกผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ ซึ่งบริบทเดิมมันคือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตาม พรบ.อาหาร ดังนั้นเจ้าของผลิตภัณฑ์กลุ่มเหล่านี้อาจจะยังไม่คุ้นชินเรื่องการศึกษาความคงสภาพ เลยยังไม่ได้บังคับว่าต้องส่งผลการศึกษาความคงภาพ แต่ให้เริ่มเขียนแผน (Protocol) การศึกษาความคงภาพอย่างเดียวมาก่อน (พอ อย. Approve ทะเบียนให้แล้ว ค่อยส่งผลการศึกษาความคงสภาพตามมาทีหลัง)
แผน (Protocol) ก็คือเอกสารที่เราเขียนว่าเราจะศึกษาความคงสภาพอย่างไร จะทำอะไร lot ไหน โดยใคร ทำเมื่อไรบ้าง ข้อกำหนดเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนผลการศึกษาความคงภาพ คือผลที่ได้ หลังจากเราศึกษาตามแผน (Protocol) นั้นๆ
การศึกษาความคงสภาพของผลิตภัณฑ์สมุนไพร จะมีทั้งแบบเร่ง (Accelerated) และแบบระยะยาว (Long term)
สภาวะเร่ง (Accelerated) คือสภาวะที่เราจำลองขึ้นมา เพื่อดูความคงสภาพระหว่างขนส่ง หรือสภาพที่รุนแรงกว่าปกติ เช่น โดนแดดมากๆ ความชื้นสูง แล้วยาเราจะยังเก็บที่สภาวะเหล่านั้นได้หรือไม่
ส่วนการศึกษาแบบระยะยาว (Long term) คือการศึกษาความคงสภาพในสภาวะการเก็บรักษาตามปกติที่ระบุไว้บนฉลาก และต้องศึกษาเป็นระยะเวลานานเท่ากับอายุของผลิตภัณฑ์ที่ระบุบนฉลาก เช่น อยากได้อายุยา 2 ปี ก็ศึกษา 2 ปี อยากได้อายุ 3 ปี ก็ศึกษา 3 ปี
สำหรับยาพัฒนาจากสมุนไพรที่ต้องส่งผลการศึกษาความคงสภาพด้วย ในปัจจุบัน สามารถส่งผลในสภาวะเร่ง 6 เดือน และแบบระยะยาว 1 ปี มาเพื่อขออายุยาชั่วคราว 2 ปี ได้ (พอผลการศึกษาความคงสภาพแบบระยะยาวมีผลครบ 2 ปีแล้ว ค่อยมาขออายุยาถาวร 2 ปี แล้วพออยากจะขยายเป็น 3 ปี 4 ปี 5 ปี ก็ค่อยส่งผลตามมาอีก)
ปกติเอกสารทางวิชาการ (ไม่รวมเอกสารทางด้านกฎหมาย หรือ admin) ที่ใช้ในการประเมินตำรับผลิตภัณฑ์สมุนไพรทุกประเภทจะแบ่งเป็น 3 หมวดหลักๆ ดังนี้
ถ้าใครเคยขึ้นทะเบียนยาพัฒนาจากสมุนไพร จะเคยเห็น checklist ของเอกสารด้านคุณภาพที่ต้องส่ง ซึ่งเอกสารด้านคุณภาพที่ต้องส่งจะแบ่งเป็น 3 ก้อนใหญ่ๆคือ
ในส่วนของการศึกษาความคงสภาพจะอยู่ในก้อนของเอกสารด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์สมุนไพร (Herbal Product) ในรูปแบบและบรรจุภัณฑ์ที่วางขายจริงตามท้องตลาดเลย
การศึกษาความคงสภาพตามแนวทาง ASEAN ระบุว่าต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
บอกว่าเราทำกี่รุ่นการผลิต (ซึ่ง ASEAN ระบุไว้ว่าอย่างน้อย 2 รุ่นการผลิต) แล้วศึกษาในรุ่นการผลิตไหนบ้าง
บอกข้อกำหนดที่ใช้ในการศึกษาความคงสภาพ ซึ่งแน่นอนว่า เราก็ต้องดูว่า ณ วันที่เราทำการศึกษาความคงสภาพ เราต้องดูว่าผลิตภัณฑ์ของเรายังผ่านข้อกำหนดเหมือนวันที่เราปล่อยผ่านเค้าไปในวันแรกไหม ซึ่งแน่นอนว่าวันแรกที่เราปล่อยผ่าน เราปล่อยผ่านตาม Spec ดังนั้นเราก็ต้องศึกษาความคงสภาพตาม Spec นั้นๆด้วย (แต่ไม่ใช่ทุก parameter ตาม Spec ที่เราจะวัด เราวัดเฉพาะ parameter ที่มันส่งผลต่อความคงสภาพเท่านั้น)
บอกว่าเราจะศึกษาความคงสภาพที่เวลาใดบ้าง รวมถึง parameter อะไรที่เราจะวัดใน time point นั้นๆ เช่น การศึกษาเรื่องเชื้อ ถ้าผลิตภัณฑ์เราบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิทและตอนแรกไม่เจอเชื้อ เราอาจจะไม่ต้องศึกษาทุก time point ก็ได้ เพราะเชื้อใหม่ๆก็เข้าไปไม่ได้อยู่แล้ว หรือถ้าผลิตภัณฑ์เราไม่เหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อ เช่น ไม่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ เชื้อมันก็ไม่น่าจะเพิ่มจำนวนได้ เราก็อาจจะศึกษาแค่จุดแรก กับจุดสุดท้ายก็พอ เป็นต้น
ปกติการกำหนด time point ที่ใช้ศึกษาความคงสภาพตาม ASEAN จะกำหนดให้ทำทุก 3 เดือนในปีแรก ทำทุก 6 เดือนในปีที่สอง และปีละครั้งตั้งแต่ปีที่ 3 เช่น ถ้าเราจะกำหนดอายุยา 4 ปี เราก็ต้องศึกษาที่ 0, 3, 6, 9, 12, 18, 24, 36, 48 เดือน
นอกจากนี้ ASEAN ยังบอกว่า เราอาจจะไม่ต้องทำการศึกษาทุกบรรจุภัณฑ์ก็ได้ เช่น เรามีบรรจุภัณฑ์ที่เหมือนกันทุกอย่าง ต่างกันแค่ขนาดบรรจุ เช่น บรรจุแผง 10 เม็ด, 20 เม็ด, 30 เม็ด เราอาจเลือกแค่แบบแผง 10 เม็ด กับ 30 เม็ด มาเป็นตัวแทนของการศึกษาก็ได้ โดยไม่ต้องศึกษาแบบแผง 20 เม็ด เป็นต้น
บอกว่าเราศึกษาในสภาวะแบบไหน ซึ่งสภาวะที่ใช้ในการศึกษาจะแตกต่างกันตามภูมิอากาศของประเทศที่เราวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศเขตร้อนชื้น การศึกษาแบบระยะยาว (Long term) จะศึกษาที่อุณหภูมิ 30±2 องศาเซลเซียส ความชื้นที่ 75±5 %RH ส่วนการศึกษาแบบเร่ง (Accelerated) จะศึกษาที่อุณหภูมิ 40±2 องศาเซลเซียส ความชื้นที่ 75±5 %RH
บอกบรรจุภัณฑ์ที่เราบรรจุตัวยาในการศึกษา คือใน 1 ผลิตภัณฑ์ที่เราวางจำหน่าย ก็จะมีบรรจุภัณฑ์ ซึ่งบางผลิตภัณฑ์ก็อาจมีหลายบรรจุภัณฑ์ เช่น บรรจุใส่ซองซิบล็อค แล้วใส่ขวดอีกที ซึ่งในการศึกษาความคงสภาพก็ต้องใช้บรรจุภัณฑ์เหมือนบรรจุภัณฑ์จริงที่วางขายในท้องตลาด
อันนี้ใน Procotol เราก็ต้องบอกว่าเราจะรายงานผลอย่างไร รูปแบบไหน ซึ่งจริงๆใน ASEAN guideline จะมี pattern ตารางมาให้อยู่แล้ว ว่าให้รายงานผลในตารางรูปแบบไหน หน้าตายังไง
สามารถอ่าน ASEAN guideline ฉบับเต็มได้ที่ ANNEX V ASEAN GUIDELINES ON STABILITY STUDY AND SHELF-LIFE OF TRADITIONAL MEDICINES
สุดท้ายนี้ เห็นมีหลายคนสับสนระหว่างศึกษาความคงสภาพก่อนขึ้นทะเบียน กับศึกษาความคงสภาพตาม GMP ASEAN คืออธิบายอย่างนี้ว่า ในบทความนี้มันคือการศึกษาความคงสภาพ ประกอบการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งก็คือก่อนขึ้นทะเบียน มันเป็นการศึกษาเพื่อนำไปพิจารณาอายุของผลิตภัณฑ์ตอนขึ้นทะเบียน มันก็จะมีทั้ง longterm และแบบเร่ง แต่การศึกษาความคงสภาพตาม GMP ASEAN มันเป็นการศึกษาความคงสภาพในตอนที่เราได้ทะเบียนแล้วเอามาผลิตจริงแล้ว ดังนั้นการศึกษาในตอนนั้นมันจะเป็น ongoing stability แปลเป็นไทยว่าการศึกษาความคงสภาพอย่างต่อเนื่อง ก็คือเอายาที่เราผลิตจริงขายจริงหลังได้ทะเบียนแล้วมาศึกษาความคงสภาพ เพียงแต่ว่า guideline ข้อกำหนดการศึกษาความคงสภาพของ 2 อันนี้ ทั้งก่อนขึ้นทะเบียน และ ongoing มันอ้างอิง guideline เดียวกัน ทำเหมือนๆกัน